วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

มธ.จับมือ มช.เจาะลึกเส้นทาง R3A-R3E สำรวจระบบโลจิสติกส์รับ FTA อาเซียน-จีน



มธ.จับมือ มช.เจาะลึกเส้นทาง R3A-R3E สำรวจระบบโลจิสติกส์รับ FTA อาเซียน-จีน

ระหว่างวันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ.2550 คณาจารย์จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อม ผู้ร่วมทีมรวม 6 คนได้เดินทางสำรวจเส้นทางการขนส่งสินค้าทางน้ำ และทางบกจากจังหวัดเชียงราย เข้าสู่ประเทศจีน สิ้นสุดที่ประเทศลาวใน "โครงการศึกษาระบบโลจิสติกส์การค้าไทย-จีน เพื่อรองรับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน กรณีศึกษา การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน" เส้นทางเชียงแสน-เชียงรุ้ง-บ่อหาน-บ่อเต็น- ห้วยทราย-เชียงของ

โดยมี รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ เป็นหัวหน้าโครงการ มีนักวิจัยร่วมอีก 4 คนประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง, อ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม, ผศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล นายไพฑูรย์ วราเดชสถิตวงศ์ และนางสาว กนกพร ทวิพัฒน์ เจ้าหน้าที่โครงการร่วมเดินทาง


วัตถุประสงค์ในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลครั้งนี้มี 2 ประการหลัก ได้แก่

1.วิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ของต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในระบบโลจิสติกส์

2.สำรวจเส้นทางขนส่งสินค้าผ่าน ไทย - จีน -ไทย ทั้งส่งออกและนำเข้า


เปิดเส้นทางน้ำเชียงแสน-สิบสองปันนา

ตามเส้นทางการสำรวจครั้งนี้มีระยะทางเดินเรือในแม่น้ำโขง 4 ประเทศ 1.เชียงรุ้ง (จีน) 2.เมืองมอม (ลาว) 3.สบหลวย (พม่า) 4.เชียงแสน (ไทย)

คณะนักวิจัยออกเดินทางจากท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เวลา 05.00 น. ล่องแม่น้ำโขงโดยเรือเร็ว (speed boat) เพื่อเข้าสู่ประเทศจีน ที่ท่าเรือจิ่งหงหรือเชียงรุ้ง ใช้เวลาทั้งสิ้น 14 ชั่วโมง ถึงท่าเรือจิ่งหงเวลา 20.00 น. ตามเวลาในประเทศจีน ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง โดยระหว่างทางผ่านท่าเรือสำคัญ ได้แก่ ท่าเรือเมืองมอม ประเทศลาว เป็นท่าเรือสำหรับแวะเติมน้ำมัน

จากนั้นผ่านท่าเรือสบหลวย ของประเทศพม่า โดยมีระยะทางจากเชียงแสน 195 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง เป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้าและมีรถบรรทุกรอรับสินค้า จากนั้นผ่านท่าเรือกวนเหลยของฝั่งประเทศจีน มีระยะทางห่างจากเชียงแสน 263 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง เป็นท่าเรือขนสินค้าและเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยมีเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจเอกสารผู้โดยสารในเรือ

ต่อมาเดินทางผ่านเมืองกันลันปา ของประเทศจีน พบเห็นสวนยางพาราสองข้างทางปลูกตามไหล่เขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศจีนให้ความสำคัญกับการปลูกพืชยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจในเมืองนี้ ส่วนท่าเรือขนถ่ายน้ำมัน กันลันปาที่คาดว่าจะเป็นท่าเรือสำหรับขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทย สู่ประเทศจีนนั้น จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ยังไม่มีการเปิดใช้บริการและก่อสร้างเพิ่มเติมจากเดิมเมื่อปี 2549

เมื่อเดินทางถึงท่าเรือจิ่งหง คณะนักวิจัยได้ทำการผ่านพิธีการศุลกากรเมื่อเวลา 20.15 น. ใช้เวลาเพียง 15 นาที เนื่องจากมีนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาพร้อมกันจำนวนไม่มาก

สำหรับเส้นทางแม่น้ำโขงนั้นสามารถพบเห็นเรือบรรทุกสินค้าในแม่น้ำโขงอยู่ประปรายในช่วงเวลากลางวัน โดยล่องขึ้นไปยังท่าเรือจิ่งหง แต่ไม่ทราบแหล่งที่มาของเรือที่แน่ชัด

สำรวจเส้นทางบกบ่อหาน-บ่อเต็น

วันที่ 2 ของการเดินทางเริ่มขึ้นเวลา 09.00 น. คณะวิจัยออกเดินทางจากโรงแรม Good Chance เมืองสิบสองปันนา ประเทศจีนโดยรถตู้ เพื่อเดินทางสำรวจตลาดเช้า ในตลาดพบเห็นผลไม้ไทยจำนวนมาก อาทิ มะขามหวานเพชรบูรณ์ มังคุด เป็นต้น

ระหว่างเส้นทางเดินรถในเมืองสิบสองปันนา รายล้อมไปด้วยสวนยางพารา ส่วนใหญ่ปลูกตามเนินเขา และเริ่มมีการกรีดยางพารา จากการสัมภาษณ์ชาวพื้นเมืองในละแวกนั้น พบว่าชาวจีนนิยมกรีดยาง 2 เวลาคือ เช้ามืด ตี 2 และช่วงกลางวัน 11 โมง จะมีกลิ่นของยางพาราค่อนข้างส่งกลิ่นแรงและเหม็น การกรีดยางของชาวจีนไม่มีการใช้เทคโนโลยีเป็นการกรีดยางโดยใช้แรงงานคนปกติ

วันที่ 3 ของการเดินทางเริ่มเวลา 08.15 น. คณะวิจัยเดินทางออกจากที่พัก เพื่อเดินทางจากเมืองสิบสองปันนา โดยรถตู้เข้าสู่เมืองบ่อหาน ชายแดนประเทศจีน ก่อนออกจากเมืองสิบสอง ปันนาจะผ่านด่านเก็บค่าผ่านทาง จากตัวเมือง สิบสองปันนาถึงเมืองกันลันปา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งหากเทียบกับเส้นทางน้ำจะใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง เนื่องจากต้องล่องเรือขึ้นทวนกระแสน้ำ

เมืองกันลันปา เป็นเมืองเพาะปลูกพืชเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์เรื่องน้ำ เพราะอยู่ติดแม่น้ำโขง พื้นที่บนเนินจะปลูกยางพาราเป็นส่วนใหญ่และบริเวณพื้นที่ลุ่มจะปลูกสับปะรดและกล้วย แต่รสชาติผลไม้ที่นี่รสชาติจืดกว่าผลไม้ไทย

สำหรับสภาพถนนเป็นเส้นทางเดิมที่มีการสร้างเส้นทางใหม่คู่ขนาน โดยเส้นทางใหม่ตัดตรงจากบ่อหานจนถึงเมืองสิบสองปันนายังไม่แล้วเสร็จดี จึงต้องใช้เส้นทางเก่าในการเดินทางจากสิบสองปันนาไปยังชายแดนจีน และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2007 นี้ ลักษณะเป็นถนน 2 เลน สามารถวิ่งด้วยความเร็วที่ 60-90 ก.ม./ ชั่วโมง คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางจากสิบสองปันนาถึงชายแดนที่เมืองบ่อหานเพียง 2 ชั่วโมง และจะเปิดใช้ก่อนเทศกาลกีฬาโอลิมปิกปี 2008 ในอนาคตประเทศจีนมีแผนการก่อสร้างสนามบินที่เมืองล่า เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ส่วนเส้นทางเดิมนั้นค่อนข้างแคบและชำรุดเสียหาย สามารถใช้ความเร็วได้เพียง 30 กิโลเมตร/ ชั่วโมง ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร การก่อสร้างเส้นทางสายใหม่นี้จะส่งผลให้ลดระยะทางลง (ยังไม่ทราบระยะทางที่แน่ชัดของเส้นทางใหม่) ระหว่างทางไปเมืองบ่อหาน มีทางแยกเพื่อเข้าสู่ท่าเรือกวยเหลย โดยมีระยะทาง จากทางแยกถึงท่าเรือกวนเหลยประมาณ 71 กิโลเมตร แต่เส้นทางชำรุดเสียหายและแคบ เนื่องจากรถบรรทุกวิ่งตลอดวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง

คณะวิจัยจึงไม่ได้เข้าไปสำรวจท่าเรือดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะไม่สามารถข้ามด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ ถนนระหว่างเมืองล่าเข้าสู่ชายแดน บ่อหานมีสภาพดี 2 ช่องจราจรลาดยาง ระยะทาง 181 ก.ม. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงถึงบ่อเต็น มีปั๊มน้ำมันระหว่างทางเพียง 1 แห่ง

คณะวิจัยเข้าพักโรงแรม Royal Jinlun Hotel เวลาประมาณ 15.20 น. จากเมืองสิบสองปันนา ถึงบ่อเต็น ระยะทางรวมประมาณ 249 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง รวมเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันและผ่านพิธีการศุลกากร ในเขตชายแดนฝั่งประเทศลาวมีพื้นที่ให้คนจีนเช่าระยะยาว 50 ปี รัศมี 5 กิโลเมตร

คนขับรถบอกเล่าว่า ลาวได้อพยพ หมู่บ้าน คนลาวออกไปประมาณ 5-10 ก.ม. และให้ชาวจีนเช่าค้าขาย และขนส่งสินค้าดำเนินการมาแล้วกว่า 4 ปี แต่ก็ยังไม่คึกคัก มีการก่อสร้างตึกแถวอยู่ พอสมควร

เมื่อปลายปี 2006 ที่ด่านมีการเปิดบ่อนกาสิโนเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ อาคารสีเหลือง สวยงาม ตามกฎหมายลาว ระบุว่าการเล่นการพนันเป็น สิ่งผิดกฎหมาย แต่การเปิดกาสิโนในบริเวณนี้ (no-man land) น่าจะเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ลาว - จีน และเป็นจุดดึงดูดนักแสวงโชคจำนวนมาก มีข้อน่าสังเกตว่า เมืองชายแดน ส่วนใหญ่มักจะเปิดบ่อนกาสิโน เช่น ที่สามเหลี่ยมทองคำ ท่าขี้เหล็ก เมืองลา เป็นต้น

ส่วนบริเวณเขตชายแดนมีอาคารให้เช่าพื้นที่ขายสินค้าจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการเปิดให้บริการเต็มพื้นที่ จากการสำรวจส่วนใหญ่พบว่าเป็น ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และร้านให้บริการดูหนังผ่าน จอคอมพิวเตอร์ คล้ายกับท่าขี้เหล็กในพม่า ส่วนใหญ่เจ้าของร้านค้าเป็นชาวจีน และในละแวกนี้ร้อยละ 90 ที่อาศัยอยู่เป็นชาวจีน ส่วนครอบครัวชาวลาวมีที่เป็นข้าราชการ พนักงานของศุลกากรลาวและตำรวจลาว ส่วนใหญ่คนลาวไม่นิยมไปทำงานในจีน เพราะไม่เข้าใจภาษา รวมทั้งไม่มาทำงานในไทยเพราะอยู่ไกล นอกจากนี้ การอพยพที่ดินของคนลาวเป็นเรื่องใหญ่ และอาจจะกระทบด้านจิตใจและความเป็นอยู่ของชาวลาว จากการพัฒนาถนน R3E ในครั้งนี้
ลาว-จีนลุยตัดทางใหม่รับค้าชายแดน

วันสุดท้ายของการเดินทางเริ่มขึ้นเวลา 08.35 น. คณะวิจัยเดินทางออกจากที่พัก เพื่อเดินทางจากบ่อเต็นเข้าสู่ประเทศลาว และกลับประเทศไทยทางท่าเรือห้วยทราย-เชียงของ เส้นทางระยะแรกเป็นการก่อสร้างภายใต้ความรับผิดชอบของจีน มีระยะทางประมาณ 69 กิโลเมตร เส้นทางสร้างแล้วเสร็จเกือบ 100% มีเพียงการซ่อมแซมไหล่เขา เนื่องจากดินถล่ม

ชาวลาวได้อพยพออกจากพื้นที่ชายแดนห่างออกมาประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีแผนย้ายด่านศุลกากรและด่านตรวจชั่งน้ำหนักมาที่จุดใหม่ ระหว่างทางมีสถานีบริการน้ำมัน 1 แห่ง ซึ่งเป็นของคนจีนตั้งอยู่ก่อนเข้าเขตเมืองลาว ราคาน้ำมัน 5.8 หยวน/ลิตร ที่สถานีบริการน้ำมันแห่งนี้มีราคาถูกกว่าของลาวเนื่องจากไม่มีภาษี ระหว่างทางพบ โรงงานยาสูบ โกดังเก็บสินค้า ซึ่งเจ้าของกิจการเป็นชาวจีนแทบทั้งสิ้น

มีจุดจอดรถบรรทุก เพื่อขนถ่ายสินค้า โดย รถบรรทุกทั้งหมดเป็นของคนลาว ซึ่งมารับสินค้าโดยตีรถเปล่ามาจากเวียงจันทน์และหลวงพระบางเพื่อกระจายต่อไปในเวียงจันทน์และเมืองอื่นๆ รถบรรทุกขนาด 10 ล้อ บรรทุกได้ประมาณ 11 ตัน ขนาด 12 ล้อ บรรทุกได้ประมาณ 15 ตัน และได้พบสินค้าจากไทยด้วย อาทิ มะขามหวานจากเพชรบูรณ์ ยางพาราจากภาคใต้และน้ำมันพืช ส่วนสินค้าจากลาว ได้แก่ ไม้ประดู่ ไม้มะค่า เพื่อส่งเข้าจีน

ระยะทางจากบ่อเต็นถึงแยกนาเตย 19 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที ลักษณะถนนเป็นถนนลาดยางอย่างดี ขนาด 2 เลน แยกนาเตยมีด่านตรวจสินค้าและชั่งน้ำหนัก รถบรรทุกที่มารอรับสินค้าที่นำเข้าจากจีน ห่างจากแยกหลวงน้ำทามีการก่อสร้างสถานีรถโดยสาร ซึ่งเป็นของคนลาว สร้างขึ้นเพื่อรองรับการ ท่องเที่ยวในละแวกนี้

ช่วง ก.ม.159 - ชายแดนลาว/จีน (บ่อเต็น/ บ่อหาน) ระยะทาง 69 ก.ม. ลาวได้รับความ ช่วยเหลือการลงทุนจากจีน การก่อสร้างเป็นถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร ขณะนี้งานก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ 100% การก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์เนื่องจากเป็นส่วนที่จีนรับผิดชอบ มีเพียงการซ่อมแซมไหล่เขาป้องกันดินถล่มช่วง ก.ม.84-ก.ม.159 (ระยะทาง 74 ก.ม.) ลาวได้รับเงินกู้จาก ADB (soft loan) การก่อสร้างเป็นถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร ขณะนี้งานก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ช่วงปี 2006 การก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากประสบปัญหาได้รับเงินกู้ช้า ช่วงที่เดินทางไปเหลือเพียงการซ่อมแซมไหล่เขาป้องกันดินถล่ม โดยงานก่อสร้างอยู่ภายใต้ การรับผิดชอบของบริษัท นวรัฐพัฒนา

ช่วงชายแดนไทย/ลาว (เชียงของ/ห้วยทราย) - ก.ม.85 (ระยะทาง 85 ก.ม.) ลาวได้รับความช่วยเหลือการลงทุนจากไทย เพื่อก่อสร้างเป็น ถนนลาดยาง 2 ช่องจากห้วยทราย - ก.ม.84 ซึ่งขณะนี้งานก่อสร้างดำเนินการไปได้ 95% งานก่อสร้างอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของบริษัท แพร่ธรรมรงค์วิทย์ แต่สถานะปัจจุบันพบว่าถนนส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย จึงต้องมีการรื้อซ่อมแซมใหม่ อีกทั้งยังมีเส้นทางที่ยังไม่เสร็จประมาณ 17 กิโลเมตร จากการประเมินคาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จภายในปลายปี 2007 นี้

จากการบอกเล่าของคนขับรถ ทราบว่าถนนเส้นนี้ส่วนใหญ่ใช้เป็นเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและลาวที่นิยมไปกาสิโนในบ่อเต็น โดยเฉลี่ยมีรถตู้ใช้เส้นทางห้วยทราย-บ่อเต็นนี้ประมาณ 40 คัน/วัน

การเดินทางจากบ่อเต็นไปยังแขวงบ่อแก้วใช้เวลารวมทั้งสิ้น 4.30 ชั่วโมง ลดลงจากการสำรวจปีที่แล้วครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ภาพรวมคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2007 จากการประเมินสถานะเหลือเพียงช่วงที่เป็นความ รับผิดชอบของบริษัท แพร่ธรรมรงค์วิทย์อีก 17 กิโลเมตรยังสร้างไม่เสร็จเป็นถนนลูกรัง และบางส่วนที่สร้างเสร็จแล้วยังไม่มีการขีดเส้นกลางถนน และส่วนที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการตัดปะเพื่อซ่อมแซมผิวถนนเป็นระยะ

คณะวิจัยเดินทางถึงชายแดนลาว-ไทย แขวงบ่อแก้วเวลา 13.00 น. เพื่อรับประทาน อาหารกลางวันและสำรวจรอบๆ เมืองยังคงมีตลาดจีนที่เช่าพื้นที่ในลาว เพื่อขายสินค้าจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค จากนั้นคณะวิจัยข้ามแดนและเดินทางกลับสู่ประเทศไทยที่ท่าเรือเชียงของเวลา 15.00 น. โดยสวัสดิภาพ
ปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนได้ทุ่มงบฯจำนวนมหาศาลในการบุกเบิกก่อสร้างเส้นทางสายใหม่เพื่อเชื่อม 4 ประเทศ ไทย-พม่า-ลาว-จีนเข้าด้วยกัน เพื่อรองรับความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีนที่มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ วันที่ 20 ก.ค.2548 แต่ถึงวันนี้กว่า 2 ปีของข้อตกลงพบว่า ยังมีการค้าขายภายใต้สิทธิประโยชน์น้อยมาก เพราะทุกประเทศในอาเซียนเกรงปัญหาที่สินค้าจีนจะทะลักเข้าไป แล้วผู้ผลิตภายในประเทศสู้ไม่ได้ เพราะต้นทุนของจีนต่ำกว่า
จึงดูเหมือนว่า เส้นทางใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้ใช้เต็มที่สมกับเม็ดเงินที่ทุ่มลงไป สำหรับประเทศไทยสิ่งที่ผู้ผลิตทำได้ต้องพยายามลดต้นทุนโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรับมือโลกในยุคการค้าเสรี

ที่มา - ประชาชาติธุรกิจ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น